ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การส่งเสริมการผลิต และการบริโภคผักอินทรีย์ กรณีศึกษา โรงครัวโรงพยาบาลเขาวง
ผู้แต่ง : พุทธพล ญาติปราโมทย์, ศศิธร อารมณ์สวะ, ณัฐธันยา เครือสวัสดิ์, ครองศักดิ์ ราชลองชัย, วรัญญา ญาติปราโมทย์, จิรสุดา ศรีรังษ์, ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยต่างๆโดยผลสรุปว่าการบริโภคผักผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อคนต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้แก่ หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จากข้อมูลสำรวจปี 2551-2552 การบริโภคผักผลไม้ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่าบริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ ถึงร้อยละ 82.3 ในปัจจุบันการซื้อผักผลไม้ตามท้องตลาดมาบริโภคนั้นมีความเสี่ยงในเรื่องสารพิษตกค้าง ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำอาจเกิดการสะสม และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จากการสุ่มตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรปี 2559 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(THAIPAN) พบว่า ผักผลไม้ที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปมีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถึงร้อยละ 56 เมื่อจำแนกตามแหล่งจำหน่ายห้างโมเดิร์นเทรดกับตลาดค้าส่งพบจำนวนตัวอย่างสารตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 70.2 กับร้อยละ 54.2 ตามลำดับ และพบว่าผักผลไม้ซึ่งแสดงฉลากรับรองสินค้าปลอดภัย(Q-GAP,Q-GMP) และฉลากเกษตรอินทรีย์(Organic) พบสารเคมีตกค้างสูงถึงร้อยละ 58.3 และร้อยละ 29.6 ตามลำดับ จากการสุ่มตรวจผักผลไม้ในอำเภอเขาวงปี 2559 พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักจากโรงครัวโรงพยาบาลเขาวงซึ่งมีการสั่งซื้อมาจากตลาดพบ ร้อยละ 9.1 ชนิดผักที่ตรวจพบสารพิษตกค้าง คือ ต้นหอม และกระเทียม ซึ่งผักส่วนมากในตลาดจะรับมาจากแหล่ผลิตจากภายนอกอำเภอ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ฮักแพงแบ่งปันอำเภอเขาวง เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักในพื้นที่ ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มได้เข้ากระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรเกษตรอินทรีย์(Organic Thailand) ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และผ่านการรับรองในปี 2560 เป็นรายแรกของอำเภอเขาวงและได้นำสินค้าทางการเกษตร และอาหารมาจำหน่ายในตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวงของโรงพยาบาลเขาวง(ตลาดสีเขียว) ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่ให้มีการขยายตลาดชุมชน ขยายผู้ผลิตอาหารปลอดภัยในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องที่นาสนใจในการที่หน่วยงานภาครัฐจะมีการสั่งซื้อผักจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยจากการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสร้างความแข็งเข็งของผู้ผลิตในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเองทั้งในระดับบุคคล ครอบครับ และชุมชน ดังนั้น ทีมวิจัยจึงทำการศึกษาการพัฒนาการผลิต และการบริโภคผักปลอดภัยจากสารพิษในโรงพยาบาลเขาวงขึ้น โดยทดลองให้โรงครัวโรงพยาบาลนำผักจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่มาใช้ในการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยที่มาใช้บริการโรงพยาบาลได้รับอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  
วัตถุประสงค์ : 1 เพื่อศึกษาบริบท สถานการณ์ ศักยภาพเงื่อนไขข้อจำกัดของการผลิตผักอินทรีย์ของกลุ่มกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งศึกษาการบริโภคผักในโรงครัวโรงพยาบาลเขาวง 2 เพื่อพัฒนารูปแบบการบริโภคผักอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โรงครัวโรงพยาบาลเขาวง 3 เพื่อศึกษาบทเรียนการบริหารจัดการการส่งเสริมการผลิต และการบริโภคผักอินทรีย์ในโรงครัวโรงพยาบาลเขาวง  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มผู้ผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษในอำเภอเขาวง, กลุ่มเจ้าหน้าที่โรคครัวโรงพยาบาลเขาวง  
เครื่องมือ : แบบสำรวจ/แบบสอบถาม, การสัมภาษณ์, การสนทนากลุ่ม, เวทีประชุมประชาคมวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1 เตรียมทีมวิจัย เตรียมชุมชน ใช้เวทีชี้แจง 2 ออกแบบเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูล 3 สำรวจ และเก็บข้อมูลสถานการณ์วิเคราะห์บริบท ศักยภาพเงื่อนไขข้อจำกัดระบบการผลิต การตลาดผักปลอดภัยจากสารพิษของกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ 4 สำรวจ และเก็บข้อมูลสถานการณ์วิเคราะห์บริบทการบริโภคผักของผู้ประกอบอาหารในโรงพยาบาลเขาวง 5 เวทีประชุมพัฒนารูปแบบการบริโภคผักอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โรงครัวโรงพยาบาลเขาวง 6 ปฏิบัติการตามแนวทางที่กำหนด 2 เดือน พร้อมทั้งประเมินผลและถอดบทเรียนการทำงาน 7 เขียนรายงานการวิจัย เผยแพร่เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไป  
     
ผลการศึกษา : 1 บริบทการผลิต และตลาดผักอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่ การผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่ พบว่าเกษตรกรผู้ผลิตผักอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์(Organic Thailand) ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ปี 2560 จำนวน 1 ราย คือ นางทับทิม เพาะชม ชนิดผักที่รับรอง คือ คะน้า, ผักบุ้งจีน, ผักกวางตุ้ง, ผักกาดหอม, และผักชี โดยที่มีเกษตรกรดำเนินการตามแนวทางผลิตผักแบบเกษตรอินทรีย์และมีศักยภาพในการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งหมด 13 ราย มีพื้นที่ทำการเกษตรกรรมทั้งหมด 165 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกผัก ร้อยละ 11.5 (19 ไร่) มีชนิดผักที่ปลูกเป็นหลัก 19 รายการ ได้แก่ ต้นหอม, ผักชี, ขึ้นฉ่าย, มะเขือเปาะ, ผักบุ้งจีน, พริก, ผักกาดหอม, กะหล่ำดอก, คะน้า, แตงร้าน, ถั่วฝักยาว, มะเขือเทศ, ผักสลัด, หวาย, เห็ดขอนขาว, เห็ดนางฟ้า, เห็ดฟาง, แมงลัก, ผักกวางตุ้ง ปีที่ผ่านมามีผลผลิตผัก 9,395 กิโลกรัมต่อปี มูลค่า 345,900 บาท แหล่งจำหน่าย พบว่า เกษตรกรนำผักมาจำหน่ายที่ตลาดผักอินทรีย์ที่ตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง นอกจากนั้นก็นำไปจำหน่ายในตลาดเทศบาลตำบลกุดสิม, ตลาดนัดคุ้มใหม่, บ้านกุดบอด, บ้านนาโก, ตลาดสายหยุดบัวขาว ด้านราคาผักอินทรีย์เกษตรกรมีการจำหน่ายราคาเท่ากับราคาผักในตลาด ส่วนการประชาสัมพันธ์สื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้เรื่องผักอินทรีย์ มีการสื่อสารผ่านเฟสบุ๊ค, เว็บไซต์ และตลาดวิถีผู้ไทชาวเขาวง ด้านความปลอดภัยพบว่า มีการสุ่มตรวจผัก 45 ตัวอย่างโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดปลอดภัยด้านอาหาร(โมบายยูนิต) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ผลการตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่วนเงื่อนไขข้อจำกัดในการผลิตผักอินทรีย์ ได้แก่ (1)การผลิตผักอินทรีย์ในกลุ่มผู้ผลิตยังไม่มีการวางแผนทั้งเรื่องชนิด ปริมาณ และเวลาในการเพาะปลูกเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการ และขาดการบริหารจัดการที่ดี (2) สภาพภูมิศาสตร์ในช่วงฤดูฝนพื้นที่ไม่เหมาะกับการปลูกผักไม่มีโรงเรือน (3) กระบวนการส่งเสริมและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(Organic Thailand)ของภาครัฐ ยังพบปัญหากระบวนการประเมินรับรองที่ขาดความต่อเนื่อง และขาดการเชื่อมโยงส่งเสริมการตลาดที่มีประสิทธิภาพ 2 การบริโภคผักในโรงครัวโรงพยาบาลเขาวง การบริโภคผัก พบว่า โรงครัวมีการใช้ผักในการประกอบอาหารบริการผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 10 ชนิด จำนวน 24 กิโลกรัมต่อวัน ตามชนิดเมนูอาหารและปริมาณผู้ป่วยแต่ละวัน ผักที่เคยใช้ 39 ชนิด ได้แก่ ผักกาดขาว, มะเขือเปาะ, คะน้า, หัวไชเท้า, ผักกาดดอก, กะหล่ำดอก, กะหล่ำปลี, แตงร้าน, ถั่วฝักยาว, มะเขือเทศ, เห็ดหูหนู, ผักบุ้ง, ฟักเขียว, เห็ดฟาง, กระเทียม, หัวหอมแดง,หอมหัวใหญ่, แครอท, ฟักทอง, ข่า, ตะไคร้, ใบมะกรูด, ต้นหอม, ผักชี, ขึ้นฉ่าย, พริกสด, บวบ, ตำลึง, ถั่วงอก, ผักชีลาว, ใบแมงลัก, ใบสะระแหน่, พริกหยวก, โหรพา, มะละกอ, ข้าวโพดอ่อน, ถั่วลันเตา, กระเพา, ผักแพว แหล่งซื้อจากตลาดอำเภอเขาวง ส่วนข้าวสารจัดซื้อจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านจาน อำเภอเนาคู ด้านความปลอดภัยพบว่า ปี 2560 มีการสุ่มตรวจผัก 16 ตัวอย่างโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดปลอดภัยด้านอาหาร(โมบายยูนิต) ผลการตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 รูปแบบการบริโภคผักอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โรงครัวโรงพยาบาลเขาวง โรงครัวโรงพยาบาลเขาวง ดำเนินการจัดซื้อผักอินทรีย์ 3 ชนิด จากเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ ต้นหอม, ผักชี, ขึ้นฉ่าย จำนวนผัก 3 ชนิดร่วมกันวันละครึ่งกิโลกรัม ราคา 60 บาท โดยมีกระบวนการสั่งเพิ่มผ่านทางโทรศัพท์ หรือโปรแกรมไลน์ทางโทรศัพท์ มีการจัดส่งเวลา 6.00 น.ทุกวัน ระบบจ่ายเงินเดือนละครั้ง เฉลี่ย 1,800 บาทต่อครั้ง ดำเนินการ 2 เดือน(ก.พ.-มี.ค.) มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยโดยสุ่มตรวจการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 1 ครั้ง ผลพบว่ามีการส่งผักเฉลี่ยเดือนละ 15 กิโลกรัม มีการสั่งผักปริมาณเพิ่ม 3 ครั้ง เพิ่มครั้งละมูลค่า 20 บาท วันที่เกษตรกรไม่สามารถมาส่งผักได้จะประสานขอส่งผักล่วงหน้า 1-3 วัน คุณภาพผักพบว่าผักจะสด ใบสวย ลำต้นใหญ่กว่าผักตลาด ผลการตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปัญหาที่พบในการดำเนินงานมีเกษตรกรเพียงรายเดียวที่มาส่งผักทำให้มีชนิดผักไม่หลากหลายไม่เพียงพอต่อความต้องการ, ความไม่เข้าใจในระบบบริหารจัดการด้านการเงิน และการตั้งราคาที่เหมาะสมของผักอินทรีย์ที่ผู้บริโภคย่อมจ่าย 4 บทเรียนการบริหารจัดการการส่งเสริมการผลิต และการบริโภคผักอินทรีย์ในโรงครัวโรงพยาบาลเขาวง (1) ด้านการผลิต พบว่า กลุ่มเกษตรกรต้องมีกระบวนการวางแผนการผลิตผักที่ดี สร้างระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทั้งภายในกลุ่มและสื่อสารกับผู้บริโภคหรือลูกค้า และช่องทางการสื่อสารโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้ทั้งชนิด และคุณภาพผักอินทรีย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผักอินทรีย์ หรือสร้างตราสินค้ามาตรฐานของกลุ่มผู้ผลิตผักอินทรีย์ในท้องถิ่น (2) ด้านการตลาด กลุ่มเกษตรกรคิดว่าผักอินทรีย์ที่ปลูกสามารถขายได้ในตลาดท้องถิ่นส่วนใหญ่มีไม่พอจำหน่าย แต่พบปัญหาด้านราคาผักอินทรีย์ที่ต้องขายเท่ากับผักในตลาดทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการยกระดับมูลค่าราคาผักอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพจะมีกระบวนการสร้างตลาดเฉพาะอย่างไร เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากทำเกษตรแบบใช้เคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ในขณะที่สถานการณ์สินค้าทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ  
ข้อเสนอแนะ : การพัฒนาอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืนโดยการส่งเสริมให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารในพื้นที่ผลิตพืชผักที่ปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยความรวมมือกันทุกภาคส่วนในการสร้างตลาดเฉพาะที่มีเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างแรงจูงใจการรับรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในการดูแลสุขภาพ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)