ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : วัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วย และการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วย ตามการรับรู้ของบุคลากรโรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นางวรัญญา ญาติปราโมทย์ และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงหน่วยงาน ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) เป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของระบบการดูแลสุขภาพและเป็นเกณฑ์ที่สำคัญของการเป็นโรงพยาบาล คุณภาพ การพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วย จำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้และ การสร้างความตระหนักแก่บุคลากรต่อความ ปลอดภัยของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนเป็นอุปนิสัยที่ปกติของการทำงาน ในระดับองค์กรนั้นควรมีการสร้างเสริมให้บุคลากรในทีมสุขภาพให้ มีการรับรู้ความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดอันตรายหรือ ความผิดพลาดจากการให้บริการจากทีมสุขภาพ การรับรู้วัฒนธรรมความปลอดภัย นั้นหมายถึงผลรวมของ ค่านิยม ทัศนคติ การรับรู้ สมรรถนะ และรูปแบบประสิทธิภาพ ของบุคคลและกลุ่มในองค์กร และการจัดการต่อเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยประกอบด้วย 1) การ ทำงานเป็นทีมภายในหน่วยงาน 2) ความคาดหวังของผู้บริหาร และกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ป่วย 3) ระบบการบริหาร จัดการที่สนับสนุนความปลอดภัยของผู้ป่วย 4) การเป็นองค์กรแห่ง การเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 5) การรับรู้ความปลอดภัย ของผู้ป่วยในภาพรวม 6) การสื่อสารและการสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับความผิดพลาด 7) การสื่อสารที่เปิดเผย 8) การทำงานเป็นทีม ระหว่างหน่วยงาน 9) การจัดอัตรากำลัง 10) การส่งมอบงาน ระหว่างหน่วยงาน และ 11) การไม่ลงโทษหรือตำหนิความผิดพลาด ซึ่งในทีมสุขภาพที่ดูแลผู้ป่วยควรมีการรับรู้เรื่องความปลอดภัย ของผู้ป่วย และในองค์กรควรมีการพัฒนาให้เกิดความปลอดภัย อย่างต่อเนื่อง และการที่บุคลากรใน องค์กรได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วย จะช่วยให้องค์กรนั้นมีภูมิคุ้มกันทำให้สามารถ ตรวจจับป้องกัน และแก้ปัญหาที่เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติงานได้ดีขึ้นและยั่งยืน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงโรงพยาบาลเขาวง เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมความปลอดภัยของผู้ป่วย และ การพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาลตามการรับรู้ของบุคลากรโรงพยาบาลเขาวงที่เข้าร่วมประชุมวิชาการเรื่อง“วัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาล” เป็นอย่างไร ผลงานศึกษาที่ได้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริหารทุกระดับสามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาวัฒนธรรมความปลอดภัยของผู้ป่วย ตามการรับรู้ของบุคลากรโรงพยาบาลเขาวงที่เข้าร่วมประชุมวิชาการเรื่อง “วัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาล” 2. เพื่อศึกษาการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาลตามการรับรู้ของบุคลากรโรงพยาบาลเขาวงที่เข้าร่วมประชุมวิชาการเรื่อง“วัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาล” 3. เพื่อหาแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาลเขาวง  
กลุ่มเป้าหมาย : บุคลากรโรงพยาบาลเขาวงที่เข้าร่วมประชุมวิชาการเรื่อง“วัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาล”  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม เกี่ยวกับ วัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วย, และการพัฒนาวัฒนธรรมความ ปลอดภัยผู้ป่วย  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1 ประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์และขั้นตอน ของการทำการศึกษาให้บุคลากรที่เข้าร่วมประชุมได้ รับทราบ และอธิบายให้เข้าใจถึงการศึกษาครั้งนี้ รับผู้สมัครใจที่จะเข้าร่วมศึกษา และชี้แจงข้อมูลที่ได้ศึกษาจะเก็บเป็นความลับ จะนำเสนอในภาพรวมและนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น 2 จัดประชุมวิชาการเรื่อง“วัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาล” 3 เก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถาม และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 4 ประชุมคณะกรรมการความเสี่ยง/พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลหาแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาลเขาวง 5 ติดตามประเมินผลการพัฒนา 6 สรุปบทเรียนการทำงาน และเขียนรายงาน  
     
ผลการศึกษา : บุคลากรโรงพยาบาลเขาวง ส่วนใหญ่อายุอยู่ในช่วง อายุ 30-39 ปี ร้อยละ 42.9 ระยะเวลาในการทำงานในโรงพยาบาล > 10 ปี ร้อยละ 60.90 ระยะเวลาในการทำงานชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน มากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ร้อยละ 77.1 ตำแหน่งปัจจุบันเป็นพยาบาลวิชาชีพ ร้อยละ 42.9 และด้านอำนวยการและเจ้าหน้าที่ทำงานสนับสนุน(.Back Office) ร้อยละ 22.9 ผลการศึกษาพบว่าโรงพยาบาลเขาวงมีวัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วยโดยรวมอยู่ในระดับมาก (X = 3.83, SD = 0.13, N=35 ) ด้านความถี่ของการรายงานอุบัติการณ์ พบว่ามีการรายงานความเสี่ยงทุกครั้งกรณีมีการกระทำผิดพลาด (mistake)เกิดขึ้น และผู้ป่วยเสียชีวิตรายงานทุกครั้ง ร้อยละ 79.0 ระดับความปลอดภัยผู้ป่วยในหน่วยงานอยู่ในระดับยอมรับได้ ดี และดีมาก ร้อยละ22.9, 62.9 และ 2.9 ตามลำดับ จำนวนรายงานเหตุการณ์ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่มีการเขียนรายงานอุบัติการณ์ จำนวน 1-2 รายงาน ร้อยละ 40.0 รองลงมา 11-20 รายงาน ร้อยละ 22.9 ด้านความคิดเห็นต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ควรนำมาตรการความปลอดภัยที่กำหนดไว้นำไปสู่การปฏิบัติทุกหน่วยงาน สร้างความตระหนักในเรื่องคุณภาพความปลอดภัยทุกกระบวนการทำงาน ด้านการรายงานเหตุการณ์ความเสี่ยง ระดับที่ไม่รุนแรงเจ้าหน้าที่แยกระดับได้ยากถึงผลกระทบจึงทำให้ละเลยต่อการรายงาน และบุคลากรบางคนบางหน่วยยังคิดว่าการรายงานความเสี่ยงยังเป็นเรื่องการตำหนิที่ชี้ความผิดของบุคคล ถ้าหากมีวิธีจูงใจการรายงานที่เป็นเชิงบวกจะทำให้มีการรายงานความเสี่ยงมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาหน่วยงานต่อไป  
ข้อเสนอแนะ : ผู้บริหารโรงพยาบาล คณะกรรมการความเสี่ยง และผู้ผู้ที่เกี่ยวข้องควรนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยผู้ป่วยในด้านต่างๆ ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)