ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ถอดบทเรียนการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น : กรณีศึกษากองทุนสุขภาพตำบล อบต.คุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : สนิท มะลิขจร, อมรพันธ์ แข็งแรง และคณะ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินงานให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 47 ที่มุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้ทั่วถึงและมากขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนได้แสดงบทบาทในการในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้แสดงบทบาทในการสนับสนุนประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ต่อมาปี พ.ศ.2552 ได้มีการขยายการดำเนินงานให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นในองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลตำบลทุกแห่งทั่วประเทศ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ (Public policy) ที่มุ่งหวังในการตอบสนองความต้องการในด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถ้าท้องถิ่นและชุมชนมีความตระหนัก และมีบทบาทร่วมในการจัดการกับปัญหาสุขภาพของชุมชนมากขึ้น จะส่งผลให้อำเภอเขาวง เป็นชุมชนชุมชนแห่งความสุข มีวัฒนธรรมสุขภาพ และวิถีสุขภาวะที่เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งทำให้ท้องถิ่นและชุมชนจะเป็นศูนย์รวมของการขับเคลื่อนกิจกรรมสุขภาพ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนได้มากขึ้น ที่ผ่านมากองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นในพื้นที่ยังขาดการถอดบทเรียนในการดำเนินงานในภาพรวม ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาถอดบทเรียนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลตำบลที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต  
วัตถุประสงค์ : 1 เพื่อสังเคราะห์ และถอดบทเรียนสถานการณ์ กระบวนการพัฒนา รูปแบบและผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นในอำเภอเขาวง ทั้งประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคีเครือข่าย, ประเด็นการสร้างนวัตกรรมจัดการสุขภาพในชุมชน และประเด็นการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพตำบล อบต.คุ้มเก่า 2 เพื่อสรุปข้อเสนอแนะ บทเรียน และแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบล อบต.คุ้มเก่า  
กลุ่มเป้าหมาย : คณะกรรมการกองทุนสุขภาพตำบล อบต.คุ้มเก่า,บุคลากรกองสาธารณสุข อบต.คุ้มเก่า, บุคลากรสาธารณสุข, หัวหน้าโครงการ, และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  
เครื่องมือ : รายงานเอกสารผลงาน, แบบสำรวจ/แบบสอบถาม, การสัมภาษณ์เจาะลึก, และสนทนากลุ่ม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1 เตรียมทีมวิจัย ประชุมชี้แจง 2 ออกแบบเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 3 สำรวจเก็บข้อมูลทั้งจากเอกสาร และบุคลากรกลุ่มเป้าหมายสัมภาษณ์เจาะลึก, และสนทนากลุ่มถอดบทเรียน 4 ประชุมสังเคราะห์ถอดบทเรียน และข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 5 เขียนรายงานผลการศึกษา  
     
ผลการศึกษา : กองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้มเก่า เป็นกองทุนขนาดกลาง เริ่มจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเมื่อปี 2549 กองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้มเก่าได้รับเงินสบทบจากสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)แนวโน้มคงที่ อยู่ระหว่าง 140,000-160,000 บาท องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้มเก่า สมทบเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพในปี 50-52, 53-57, และ58-60 อัตราร้อยละ 10, 30 และ40 ตามลำดับของเงินที่ได้รับการจัดสรรจาก สปสช. โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้มเก่ามีเงินในการบริหารกองทุนในปี 2552 มากที่สุดเป็นเงิน 568,948 บาท และน้อยที่สุดในปี 2550 เป็นเงิน 199,540 บาท, ปี 2560 มีเงินบริหารกองทุน 300,050 บาท เฉลี่ย 71.7 บาทต่อหัวประชากร กองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้มเก่า สนับสนุนกิจกรรมประเภทที่ 2 การสนับสนุนกลุ่มหรือองค์กรประชาชนหรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่มากที่สุด มีโครงการ ร้อยละ 53.8-83.3 ใช้งบประมาณกองทุนคิดเป็นร้อยละ 55.9-78.8, กิจกรรมประเภทที่ 1 การสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข ปี 2558 และ2559 ไม่มีกิจกรรม ส่วนปี 2560 มีโครงการ ร้อยละ 8.3 ใช้งบประมาณกองทุนคิดเป็นร้อยละ 12 กิจกรรมประเภทที่ 3 การสนับสนุนศูนย์เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการในชุมชน ปี 2558-2559 มีโครงการร้อยละ 28.6-38.5 ใช้งบประมาณกองทุนคิดเป็นร้อยละ29.7-39.4 ส่วนปี 2560 ไม่มีกิจกรรม, กิจกรรมประเภทที่ 4 การบริหารจัดการกองทุนและพัฒนาระบบบริหารจัดการ ใช้งบประมาณกองทุนคิดเป็นร้อยละ 3.5-8.8 สัดส่วนงบประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายเรียงจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยงเสี่ยง, กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มเด็กวัยเรียน/เยาวชน, กลุ่มเด็กเล็ก/เด็กก่อนวัยเรียน, กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, และกลุ่มอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ56.4, 17.9, 15.4, 5.1, 2.6 และ2.6 ตามลำดับ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการสนับสนุนกิจกรรมในกลุ่มเป้าหมายกลุ่มหญิงตั้งครรภ์/หญิงหลังคลอด, กลุ่มวัยทำงาน, และกลุ่มผู้พิการ/ทุพพลภาพ ผลการประเมินศักยภาพกองทุนได้มีแนวโน้มค่าคะแนนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะปี 2555 ได้ 92 คะแนน อยู่ในระดับ A+ (ศักยภาพสูงและสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้) นวัตกรรมด้านสุขภาพในชุมชน เช่น ศูนย์เรียนรู้กองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับอำเภอเขาวง, ชมรมรักคนพิเศษกิจกรรมดูแลเอื้ออาทรผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น บทเรียนสำคัญในการดำเนินงานกองทุนควรมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาในพื้นโดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ยั่งยืนไม่ใช่โครงการสิ้นสุดไม่มีงบประมาณชุมชนก็ไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่ดำเนินกิจกรรมต่อไป กิจกรรมที่ควรส่งเสริมการสำรวจปัญหาสุขภาพเชิงรุกเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำแผนงานโครงการให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่  
ข้อเสนอแนะ : การพัฒนาการดำเนินงานกองทุนการพัฒนาพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการบริหาร คณะอนุกรรมการดำเนินงาน แกนนำกลุ่มชมรมต่าง ๆ แกนนำสุขภาพ ผู้นำหมู่บ้าน/ ชุมชนในประเด็นการจัดทำแผนโครงการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และควรมีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มจำนวนกรรมการบริหาร อนุกรรมการดำเนินงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ และการรับรู้บทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนกองทุนให้บรรลุเป้าหมาย และพร้อมทั้งเพิ่มการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ทั้งการประชาสัมพันธ์วัตถุประสงค์และแนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ การค้นหาปัญหาสุขภาพในพื้นที่ การดำเนินกิจกรรม และการเผยแพร่ผลงานของกองทุน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)