|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย |
สถานะ : เสนอโครงร่าง |
บทความ/วิจัย เรื่อง : การศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค จังหวัดกาฬสินธุ์ |
ผู้แต่ง : |
วานิช รุ่งราม |
ปี : 2560 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นสาเหตุของการป่วยและการตายในหลายประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2541 องค์การอนามัยโลกได้จัดลำดับประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก จำนวน 22 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 17 สาเหตุที่ทำให้วัณโรคเป็นปัญหาทางสาธารณสุขเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการดื้อต่อยารักษาวัณโรคของผู้ป่วย (สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค, 2552)
ในประเทศไทย วัณโรคดื้อยาเป็นปัญหาที่พบมาเป็นระยะเวลานาน ในปี พ.ศ. 2528 เริ่มมีการใช้สูตรยาระยะสั้น 6 เดือน เพื่อรักษาผู้ป่วยวัณโรคในแผนงานวัณโรคแห่งชาติ ในขณะนั้นวัณโรคดื้อยาที่พบยังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรง คือ มีเพียงการดื้อต่อยา Isoniazid (H) และ Streptomycin (S) เท่านั้น ผู้ป่วยที่ดื้อต่อยาทั้งสองขนานสามารถรักษาให้หายจากวัณโรค ด้วยสูตรยาที่มี Rifampicin (R) ได้ หลังจากการนำยาระยะสั้นมาใช้ พบว่ามีรายงานวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug resistant tuberculosis: MDR-TB) เกิดขึ้น และจากปัญหาดังกล่าวจึงมีการนำสูตรยาแนวที่สองมาใช้มากขึ้น ซึ่งมีความซับซ้อนในการรักษามากกว่าการรักษาด้วยสูตรยาระยะสั้นมาก ซึ่งการใช้สูตรยาแนวที่สองโดยไม่มีการกำกับติดตามที่เหมาะสม ทำให้ปัญหาวัณโรคดื้อยาควบคุมได้ยากมากขึ้น (สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค, 2556) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการควบคุมวัณโรคในหลายประเทศ การควบคุมวัณโรคทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยให้หาย ซึ่งต้องลงทุนสูง ทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และยาต่าง ๆ การบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน มีความยุ่งยาก ซับซ้อนและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ป่วยวัณโรคทั่วไป และเฉพาะยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 1 ราย สามารถรักษาผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปได้ถึง 25 – 30 ราย
องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยรายงานสถานการวัณโรคดื้อยาของผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2558 พบว่า ในปี พ.ศ. 2557 มีการเฝ้าระวังการเกิดวัณโรคดื้อยา โดยการตรวจเชื้อวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 480,000 คน พบเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน จำนวน 123,000 คน (ร้อยละ 25.63) ผู้ป่วยที่ตรวจพบและได้เข้ารับการรักษามีจำนวน 110,000 ราย (ร้อยละ 99.09) จากรายงานดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาที่เข้ารับการรักษามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2556 คิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 มีการรายงานผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา พบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหายขนานที่รักษาหาย เพียงร้อยละ 50 เสียชีวิต ร้อยละ 16 ส่วนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงที่รักษาหาย เพียงร้อยละ 26 (World Health Organization [WHO], 2015)
ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ประมาณ 1760 ราย (ผู้ป่วยรายใหม่ 800 ราย และผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาแล้ว 960 ราย) ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการรายงานผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนรักษา จังหวัดกาฬสินธุ์ ในระบบแจ้งกลับผลการดำเนินงานวัณโรค (TB Thailand) ในปี พ.ศ. 2554 - 2558 จำนวน 1,256 1,261 1,316, 1,240 และ1,176 คน เป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน จำนวน 21 คน และซึ่งในปี พ.ศ. 2559 ตรวจพบเชื้อวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง (Extensive drug- resistance : XDR-TB) จำนวน 2 คน (ระบบแจ้งกลับผลการดำเนินงานวัณโรค, 2559) ซึ่งได้รับการยืนยันโดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เพื่อเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาของเชื้อก่อน หากผู้ป่วยวัณโรคได้รับการดูแลรักษาและได้รับยาที่ถูกต้อง เหมาะสม รวดเร็ว ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น ทำให้มีโอกาสรักษาหาย ลดการเสียชีวิตและมีคุณภาพชีวิตกับสู่ปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยหยุดการรักษาเอง ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนผู้ป่วยให้ได้รับการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะรักษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด และลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค จึงได้ทำการศึกษาเพื่อระบุปัจจัยที่ก่อให้เกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนรักษา จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนสนับสนุนผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรคในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ต่อไป
|
|
วัตถุประสงค์ : |
เพื่อศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค จังหวัดกาฬสินธุ์ |
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเฉพาะในผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนการรักษา จังหวัดกาฬสินธุ์ และในระบบบันทึกข้อมูลวัณโรครอบ 3 เดือน (Thailand web – based data entry for TB report) แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค ระหว่างปี พ.ศ. 2552 – 2558 ซึ่งมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลปฐมภูมิโดยใช้เครื่องมือ คือ แบบสอบถาม เรื่อง ปัจจัยการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค จังหวัดกาฬสินธุ์ และข้อมูลทุติยภูมิจากคลินิกวัณโรค จำนวน 18 แห่ง ดังนี้
1 เวชระเบียนผู้ป่วยนอก (OPD Card)
2 ทะเบียนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาจังหวัดกาฬสินธุ์
3 แบบฟอร์ม Tuberculosis Treatment Card (TB01)
4 แบบรายงาน TB 07
5 Drug resistance tuberculosis treatment card (DR-TB 01)
6 แบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา (Index case MDR-TB/XDR-TB: MDR-TB 2)
7 ทะเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB 03)
|
|
เครื่องมือ : |
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถาม เรื่อง การเฝ้าระวังและศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามกรอบแนวคิดที่ได้จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัย ซึ่งแบบคัดลอกข้อมูล มีส่วนประกอบ ดังนี้
ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป จำนวน 6 ข้อ
ตอนที่ 2 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดวัณโรคดื้อยา จำนวน 20 ข้อ
ตอนที่ 3 ข้อมูลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จำนวน 3 ข้อ
|
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
การศึกษาปัจจัยการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนรักษา จังหวัดกาฬสินธุ์ในครั้งนี้ มีวิธีดำเนินการวิจัยดังนี้
1. รูปแบบการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ แบบ Retrospective case – control study เนื่องจากเป็นการศึกษาในโรคที่พบยาก มีระยะทางระหว่างได้รับปัจจัยเสี่ยงจนเกิดโรคนาน ทำให้กลุ่มศึกษามีจำนวนน้อย จึงได้เลือกวิธีการ Match ตัวแปรเพศ และอายุ แบบ 1: 4
2. ประชากร
ประชากรเป้าหมาย คือ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคดื้อยา ทั้งชนิดสองชนิด คือ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน และวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 30 เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ที่ขึ้นทะเบียนรักษา จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 24 ราย กระจายตามสถานบริการ จำนวน 10 แห่ง ใน 10 อำเภอดังนี้ อำเภอเมือง และอำเภอกมลาไสย สถานบริการละ 4 ราย อำเภอนามน ยางตลาด และคำม่วง อำเภอละ 3 ราย อำเภอนาคู และห้วยเม็ก อำเภอละ 2 ราย และอำเภอกุฉินารายณ์ ดอนจาน และท่าคันโท อำเภอละ 1 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 24 ราย
2.1 เกณฑ์การคัดเข้า (Inclusion criteria)
2.1.1 เป็นผู้ป่วยวัณโรค ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นวัณโรค (กลุ่มควบคุม) และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานและ/ หรือดื้อยาชนิดรุนแรง (กลุ่มศึกษา)
2.1.2 เป็นผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป
2.1.3 ผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรับการรักษา ณ คลินิกวัณโรค จำนวน 18 แห่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ และไม่เคยขึ้นทะเบียนรับการรักษา ณ สถานบริการสุขภาพอื่นมาก่อน
2.1.4 ยินยอมเข้าร่วมการศึกษาโดยมีลายลักษณ์อักษร
2.2 เกณฑ์การคัดออก (Exclusion criteria)
2.2.1 เป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว
2.2.2 เป็นผู้ป่วยที่ย้ายออกจากพื้นที่รักษา
2.2.3 ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตเวช ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้
3. กลุ่มตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่าง
ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบ Retrospective case control analytical study ซึ่งกลุ่มศึกษา (Case) คือ ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาทั้งหมด ที่ขึ้นทะเบียนรับการรักษาจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 24 ราย ซึ่งมีการ Match เพศ และ อายุ แบบ 1 : 4 ดังนั้น กลุ่มศึกษามีจำนวน 24 ราย และกลุ่มควบคุม มีจำนวน 96 ราย ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 120 คน โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
3.1 กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
3.1.1 กลุ่มศึกษา (Case) คือ ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน หรือวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง ซึ่งได้รับการยืนยันโดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น จำนวน 24 คน
3.1.2 กลุ่มควบคุม (Control) คือ ผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยวัณโรคยืนยัน (Definite case) หรือ ผู้ป่วยที่แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค แต่ไม่ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และ/ หรือวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง และตัดสินใจให้การรักษาวัณโรคเต็มระยะสูตรยา จำนวน 96 คน
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงที่ขึ้นทะเบียนรักษาในจังหวัดกาฬสินธุ์ทั้งหมด จำนวน 24 ราย และทำการคัดเลือกกลุ่มควบคุมเพื่อนำเข้าสู่การศึกษาครั้งนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยวัณโรค ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มควบคุมซึ่งต้องสัมพันธ์กับเพศ และอายุ ของกลุ่มศึกษา
4. แหล่งข้อมูล
การศึกษาครั้งนี้ทำการรวบรวมรายชื่อผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน หรือวัณโรคดื้อยาและชนิดรุนแรง จากทะเบียนผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนักวิชาการผู้รับผิดชอบงานวัณโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลร่วมกับผู้วิจัย พบผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรคดื้อยาและยังมีชีวิตอยู่ ณ วันที่ 30 เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 มีจำนวน 24 ราย ซึ่งกระจายอยู่ใน 10 อำเภอ ในจังหวัดกาฬสินธุ์
7. การเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม โดยมีเจ้าหน้าที่คลินิกวัณโรคที่ดูแลผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงเป็นผู้สัมภาษณ์ และรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากทะเบียนประวัติ แบบ TB01 TB03 โดยผู้วิจัยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
7.1 การศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยดำเนินการยื่นขอจริยธรรมการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เนื่องจากผู้วิจัยทำการรวบรวมและตรวจสอบรายชื่อผู้ป่วยวัณโรค และวัณโรคดื้อยาที่ขึ้นทะเบียนรักษาจังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วงเวลาที่ศึกษาทั้งหมด (1 มกราคม พ.ศ. 2552 – 30 กันยายน พ.ศ. 2559) ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะนำเสนอในภาพรวมของสรุปผลการวิจัย ที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อ หรือข้อมูลเฉพาะส่วนบุคคลให้ผู้อื่นทราบรายละเอียดได้เป็นอันขาด
7.2 ผู้วิจัยนำหนังสือแนะนำตัวจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อชี้แจงรายละเอียด และขออนุมัติดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากคลินิกวัณโรค โรงพยาบาลกาฬสินธุ์
7.3 ผู้วิจัยประสานงานกับเจ้าหน้าที่คลินิกวัณโรค ระดับจังหวัด และระดับอำเภอเกี่ยวกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งให้ผู้วิจัย
7.4 การเก็บรวมรวมข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยเจ้าหน้าที่คลินิกวัณโรค ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการวิจัย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลจะไม่เปิดเผย นอกจากใช้ในการวิจัยเท่านั้น เพื่อขออนุญาตและขอความร่วมมือจากผู้ป่วย ในการสัมภาษณ์ใช้เวลาประมาณ 30 นาที สำหรับผู้ป่วย 1 ราย ในการให้ข้อมูล ซึ่งบางข้อคำถามเจ้าหน้าที่ผู้สัมภาษณ์ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้งกับข้อมูลในคลินิกวัณโรค เช่น ผลการทดสอบความไวต่อยาที่ใช้ในการรักษา สภาพร่างกายเมื่อเริ่มรักษา เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดการจดจำข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
7.5 เก็บรวมรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก ทะเบียนประวัติ TB01, TB03, TB04 MDR-TB 01 และ MDR-TB 03
7.6 ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ และอนุญาตในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยลงลายมือชื่อในใบยินยอมเข้าร่วมการศึกษา
7.7 ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด มาตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์
7.8 นำข้อมูลที่รวบรวมได้ บันทึกลงในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม Microsoft excel
8. การวิเคราะห์ข้อมูล
กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โดยใช้แบบสอบถามเรื่อง ปัจจัยการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรคจังหวัดกาฬสินธุ์ และเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิเพิ่มเติมจากคลินิกวัณโรค จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีขั้นตอนในการจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
8.1 ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวมรวมข้อมูลทั้งในกลุ่มศึกษา และกลุ่มควบคุม ตรวจสอบความครบถ้วน สมบูรณ์ แล้วนำมาจัดกลุ่มและลงรหัสข้อมูล
8.2 บันทึกข้อมูลตามรหัสที่กำหนดในโปรแกรม Microsoft excel
8.3 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป STATA version 10 ใช้สถิติเชิงพรรณนาในการวิเคราะห์ลักษณะการกระจายของกลุ่มประชากรที่ศึกษา ดังนี้
8.3.1 ปัจจัยด้านบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพหลัก รายได้ต่อเดือน ภาวะร่างกายเมื่อเริ่มรักษา ชนิดของผู้ป่วย จำนวนครั้งของการรักษาก่อนการรักษาครั้งปัจจุบัน ปี พ.ศ. ที่เริ่มป่วยครั้งแรก รูปแบบการรักษา การสูบบุหรี่ ประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโรคประจำตัว
8.3.2 ปัจจัยด้านการได้รับเชื้อก่อโรค ได้แก่ ประวัติการมีผู้ป่วยวัณโรคในครอบครัว ประวัติการสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ชนิดและขนาดยาที่ใช้ ผลการทดสอบความไวต่อยารักษาโรค การเกิดอาการข้างเคียงจากยา ความสม่ำเสมอของการกินยา
8.3.3 ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความสะดวกในการมารับบริการ ภายในบ้านสะอาด เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน และทำความสะอาดสม่ำเสมอ ภายในบ้านมีการระบายอากาศดี ไม่อับชื้น แสงสว่างจากธรรมชาติส่องถึงภายในบ้านได้ ห้องนอนสะอาด ไม่มีหยากไย่
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ตัวแปรเดี่ยว (Univariate analysis) เพื่อหาความสันพันธ์ของตัวแปรทีละคู่ ได้แก่ ปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยด้านผลการรักษา กับการเกิด วัณโรคดื้อยา ด้วยสถิติวิเคราะห์ Chi-square test และวิเคราะห์หาขนาดความสัมพันธ์ด้วย Odds ratio และช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% Confidence interval of odds ratio)
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรเชิงซ้อน (Multivariate Analysis) เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยวัณโรค โดยใช้สถิติการถดถอยพหุโลจิสติก (Multiple logistic regression analysis)
|
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
|
|
ข้อเสนอแนะ : |
|
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ยังไม่ได้รับรางวัล |
|
|
|
|
|
ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง
|
|
|
|
|