ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : เสนอโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : สุทิน ขวัญศิริ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม เทคโนโลยี การประกอบอาชีพ เศรษฐกิจและการเมือง ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่จากอดีตที่เคยเรียบง่ายกลับกลายเป็นวิถีชีวิตที่เร่งรีบแข่งขันกับเวลา ผู้คนทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่มีเวลาใส่ใจกับสุขภาพของตนเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพหรือจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตจนกลายมาเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและโครงร่างทั่วไป ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราการเจ็บป่วยอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศไทย (กระทรวงสาธารณสุข, 2551) จากสถิติผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงร่างทั่วไปในปี 2550 ทั่วทั้งประเทศไทยไม่รวมกรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 13,615,531 ราย คิดเป็นอัตรา 237.92ต่อประชากร 1,000 คน และในปี 2551 พบว่า ทั่วทั้งประเทศไทยมีผู้ป่วยทั้งหมด15,189,303 รายคิดเป็นอัตรา 264.16 ต่อประชากร 1,000 คน (กระทรวงสาธารณสุข, 2551) จะเห็นได้ว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.36 และจากสถิติผู้ที่เจ็บป่วยด้วยระบบกล้ามเนื้อและโครงร่างทั่วไปในปี 2550ของภาคเหนือ พบว่า มีผู้ป่วยทั้งหมด 4,211,039 ราย คิดเป็นอัตรา 354.42 ต่อประชากร 1,000 คนและในปี 2551 พบว่ามีผู้ป่วยในภาคเหนือทั้งหมด 4,588,233 ราย คิดเป็นอัตรา 386.36 ต่อประชากร1,000 คน (กระทรวงสาธารณสุข, 2551) จะเห็นว่าภาคเหนือมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.22 อาการปวดหลังจากการทำงาน เป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในกลุ่มคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ใช้แรงงานทั่วไป ส่งผลไปถึงการหยุดงาน สูญเสียรายได้ เสียค่ารักษาพยาบาล หรือทำให้พิการได้ในที่สุด และมีแนวโน้มของการเกิดโรคนี้เพิ่มมากขึ้น โรคปวดหลังจากการทำงาน เป็นโรคที่มีพยาธิสภาพที่กล้ามเนื้อหลัง เอ็นข้อ หมอนรองกระดูกสันหลัง และข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ใช้แรงงานทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดหลังบริเวณเอว ซึ่งเป็นสาเหตุของการลาป่วย รองลงมาจากอาการไข้หวัด และโรคทางเดินอาหาร อาการปวดหลังนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวด และเมื่อยล้าแล้ว ยังลดความสามารถในการเคลื่อนที่ ทำให้หลังตึง ก้มและเงยได้ไม่เต็มที่ เมื่อพักก็จะมีอาการดีขึ้น แต่เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวใช้งาน หลังก็จะเริ่มปวดขึ้นอีก อาการปวดหลังเรื้อรัง ส่งผลไปถึงการหยุดงาน สูญเสียรายได้ เสียค่ารักษาพยาบาล หรือ ทำให้พิการได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้โรคปวดหลังจะพบได้ในทุกประเภทกิจการ หรือ ทุกประเภทอุตสาหกรรม แต่มักไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะความรุนแรงของปัญหามักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นและไม่อันตรายถึงขั้นต้องเสียชีวิต (สสิธร เทพตระการพร, 2542) จากสถิติแนวโน้มการเกิดปัญหาการบาดเจ็บจากการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรายงานผู้บาดเจ็บเนื่องจากการยกของหนักหรือเคลื่อนย้ายวัสดุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จาก 6,600 ราย ในปี พ.ศ. 2535 เป็น 15,406 ราย ในปี พ.ศ. 2540 และมีรายงานผู้บาดเจ็บเนื่องจากท่าทางการทำงานเพิ่มขึ้นจาก 1,907 ราย ในปี พ.ศ. 2535 เป็น 4,389 ราย ในปี พ.ศ. 2540 คิดเป็นอัตราการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ด้วยสาเหตุดังกล่าว เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 233 และ 230 ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า โดยประมาณ ภายในระยะเวลา 6 ปี ดังแสดงในตารางที่ 1 (สำนักงานประกันสังคม ปีพ.ศ. 2535 - 2540) เมื่อเปรียบเทียบอัตราการประสบอันตราย เนื่องจากการยกของหนัก หรือเคลื่อนย้ายวัสดุ และจากท่าทางการทำงาน รวมกันแล้วคิดเป็นเพียงร้อยละ 9.01 ของอัตราการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จำแนกตามความร้ายแรงทั้งหมดในปี พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาการบาดเจ็บ หรือการประสบอันตรายเนื่องจากการยกของหนัก หรือท่าทางการทำงานนั้น ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ผู้ประกอบอาชีพยังไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหามากนัก จึงทำให้การรายงานอัตราการประสบอันตรายทางด้านนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่บ้าง (สสิธร เทพตระการพร,2542) ดังนั้นจากปัญหาดังกล่าวผู้ทำการศึกษา ซึ่งเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขซึ่งได้ พบเจอปัญหาของผู้ป่วยด้วยโรคปวดกล้ามเนื้อที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดงบัง อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึง ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้เพื่อนำผลการศึกษาดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการวางแผนแก้ไขปัญหาอาการปวดกล้ามเนื้อและหาแนวทางในการลดอัตราการป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออักเสบในผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษา ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์จำนวน 109 คน  
เครื่องมือ : เป็นแบบสอบถามความรู้และการปฏิบัติตนของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้สถิติเชิงสำรวจ (Survey Study) เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทั่วไป ทางประชากรของกลุ่มตัวอย่าง ข้อมูลระดับความรู้เกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อ และข้อมูลพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ได้แก่ จำนวน ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าสูงสุด และค่าต่ำสุด  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ผู้ศึกษาประสานงานขอความร่วมมือจากอาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในพื้นที่ เพื่อเป็นผู้ช่วยในการศึกษาครั้งนี้ จำนวน 6 คน และขออนุญาตเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบอาชีพทอผ้าในเขตพื้นที่ตำบลหัวนาคำอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. ผู้ศึกษานำแบบสอบถามไปชี้แจงวัตถุประสงค์ เนื้อหา และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแก่ผู้ช่วยในการศึกษา จนเป็นที่เข้าใจ 3. นำแบบสอบถาม ที่สร้างขึ้นและผ่านกระบวนการทดสอบความเชื่อมั่น ไปทำการเก็บและรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง ตามขั้นตอน คือ 3.1 ชี้แจง วัตถุประสงค์ วิธีการตอบแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างเป็นรายบุคคลโดยตรง 3.2 แจกแบบสอบถามให้ประชากรทำตามสบายไม่เร่งรีบ ถ้ามีข้อซักถามหรือสงสัยก็ให้ถามได้ 3.3 ตรวจสอบแบบสอบถามให้ถูกต้อง เรียบร้อย สมบูรณ์ 4. ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง 5. ผู้ศึกษาทำการบันทึก ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลสำเร็จรูป  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่าประชากรส่วนใหญ่ของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 109 คน เพศ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 93.58) อายุ ส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 41 – 50 ปี (ร้อยละ 34.86) สถานภาพการสมรส ส่วนใหญ่มีคู่ (ร้อยละ 73.39) ระดับการศึกษาสูงสุด ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษา สูงสุดอยู่ในระดับประถมศึกษา(ร้อยละ88.07) รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 48.62) ระยะเวลาการทำงานต่อวัน ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 3 – 6 ชั่วโมงต่อวัน (ร้อยละ 54.13) และสถานที่ทำงานคือบ้านตนเอง (ร้อยละ 95.41) ด้านความรู้จากการศึกษาด้านความรู้ เรื่องโรคปวดกล้ามเนื้อ โดยรวมพบว่าส่วนมากประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์มีความรู้อยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 52.29) และ ทัศนคติ เกี่ยวโรคปวดกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ มีทัศนคติเกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อระดับปานกลาง (ร้อยละ 90.83) ด้าน พฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อระดับปานกลาง (ร้อยละ 65.14)  
ข้อเสนอแนะ : อภิปรายผลการศึกษา มีความรู้เกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ระดับสูง ร้อยละ 52.29 รองลงมาคือมีความรู้ระดับปานกลาง ร้อยละ 38.53 การมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาค้นคว้า หาความรู้ เช่น หนังสือ ตำรา อินเตอร์เน็ต ส่งผลต่อการป้องกันตัวเองจากโรคประกอบอาชีพได้ มีทัศนคติเกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ระดับปานกลาง ร้อยละ 90.83 รองลงมาคือมีทัศนคติเกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อระดับต่ำ ร้อยละ 9.17 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีเจตคติที่ดีทัศนคติเกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อแล้ว ก็จะเกิดพฤติกรรมการป้องกันที่ดีขึ้นด้วย พฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อส่วนใหญ่มีระดับปานกลาง ร้อยละ 65.14 รองลงมาคือมีพฤติกรรมระดับไม่ดี ร้อยละ 20.18 จำเป็นต้องมีการส่งเสริม แนะนำและจากการมีประสบการณ์ในการทำงานที่มีระยะเวลานาน และมีการสังเกตให้คำแนะนำจากครอบครัวหรือเจ้าหน้าที่ ผลกระทบจากการประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ส่วนใหญ่ระดับปานกลาง ร้อยละ 65.174 รองลงมาคือมีผลกระทบจากการประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ระดับมาก ร้อยละ 18.35 เนื่องจากยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของโรคปวดกล้ามเนื้อและยังเห็นว่ายังเป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้โดยง่าย และไม่เป็นโรคที่อันตรายไม่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตมากนัก ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ 1. จากการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้ออยู่ในระดับปานกลางและไม่ดี แต่ควรมีการส่งเสริม ป้องกันและเสริมแรงจูงใจจากคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือน ให้ผู้ประกอบอาชีพตระหนักและเห็นความสำคัญให้เกิดพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อได้อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ 2. มีการติดตาม และประเมินผล การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป 1 ควรมีการศึกษาปัจจัยและตัวแปรอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เช่น การศึกษาถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ เป็นต้น 2 ควรมีการศึกษาในโดยการจัดกิจกรรมประยุกต์ใช้วิธีการทางสุขศึกษาเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการป้องกันโรคปวดกล้ามเนื้อของผู้ประกอบอาชีพแปรรูปยางรถยนต์ ในเขตตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างต่อเนื่อง  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)