|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย |
สถานะ : จัดทำรายงาน |
บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาศักยภาพ เยาวชนจิตอาสา ในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ |
ผู้แต่ง : |
นายเจนณรงค์ ละอองศรี |
ปี : 2560 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
จากการศึกษาข้อมูลสาเหตุการตายของประชากรในเขตพื้นที่ตำบลโนนนาจานย้อนหลัง3ปี (พ.ศ.2556 – 2558) พบสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี เท่ากับ 38.84, 45.95 และ 50.41ต่อแสนประชากรตามลำดับ และจากข้อมูลการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระในปี พ.ศ.2558 จำนวน 228 ราย ตรวจพบ 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.09 โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อัตราส่วน 2 ต่อ 1ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 10.24) รองลงมาคืออายุ 41- 50 ปี (ร้อยละ9.04), อายุ51- 60 ปี (ร้อยละ8.79), อายุ 31 - 40 ปี (ร้อยละ7.09), อายุ 21 - 30 ปี (ร้อยละ5.36) และกลุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี (ร้อยละ4.41) แสดงให้เห็นความรุนแรงของปัญหาการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับ อีกทั้งตำบลโนนนาจาน อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังเป็นพื้นที่ติดลำห้วยยัง อันเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่ประชาชนมักจะไปหาปลาน้ำจืด ปู กุ้ง หอย มารับประทานอยู่ตลอด อีกทั้งประชาชนยังมีการกินปลาแบบสุกๆดิบๆในรูปแบบอื่นได้แก่ ปลาร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม เพราะเข้าใจว่าด้วยกระบวนการหมักสามารถกำจัดหรือฆ่าพยาธิหมดแล้วสามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องทำให้สุก หรือบางคนก็มีค่านิยมว่าอาหารเหล่านั้นเมื่อทำให้สุกแล้วจะทำให้ไม่อร่อยสู้รับประทานแบบดิบๆไม่ได้ ทำให้ประชาชนยังมีโอกาสติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับได้อีกต่อไป
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการบริโภคปลาแบบสุกๆดิบๆ นั้นต้องให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยมการกินรวมทั้งวัฒนธรรมของท้องถิ่น รูปแบบการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในชุมชนมีหลากหลายแนวคิดที่มีประสิทธิภาพ จากแนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเสริมสร้างศักยภาพให้คนในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนที่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของชุมชนเช่น การเป็นแรงผลักดันให้คนในครอบครัวเลิกกินปลาดิบ การช่วยผู้ปกครองปรุงปลาร้าต้มสุก การออกเยี่ยมบ้านให้กำลังใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ดี เพียงแต่ขาดแรงผลักดัน แรงกระตุ้น รวมถึงการมีเวทีในการแสดงออกถึงพลังในตัวของเด็กเท่านั้น
ผู้ศึกษาจึงสนใจศึกษาการพัฒนาศักยภาพเยาวชนจิตอาสาในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ เพื่อพัฒนาให้เยาวชนจิตอาสากลายเป็นแกนนำในการสร้างแรงจูงใจเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดมีเกล็ดที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อลดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับต่อไป
|
|
วัตถุประสงค์ : |
1.เพื่อศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ
2.เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนจิตอาสา ในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ
|
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เด็กอายุระหว่าง 11 - 12 ปีในพื้นที่หมู่ 1 และ 9 ตำบลโนนนาจานเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) โดยการจับคู่กันเป็นคู่หู คือ อสม.หนึ่งคน มีคู่หูเป็น เยาวชนจิตอาสา 1 – 2 คน ได้จำนวน 22 คน |
|
เครื่องมือ : |
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
1. แบบสอบถามโครงสร้าง ในการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล
2. แนวคำถามการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ในการสนทนากลุ่ม
3. แนวทางการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม
|
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการเชิงปฏิบัติการ (action research) ภายใต้บริบทพื้นที่ในชุมชน และประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ กลุ่มเยาวชนจิตอาสาอายุระหว่าง 11 - 12 ปีในพื้นที่หมู่ 1 และ 9 ตำบลโนนนาจานเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) โดยการจับคู่กันเป็นคู่หู คือ อสม.หนึ่งคน มีคู่หูเป็น เยาวชนจิตอาสา 1 – 2 คน ได้จำนวน 22 คน เก็บรวบรวมข้อมูลทั่วไปโดยใช้แบบสอบถามเชิงโครงสร้างเพื่อทราบข้อมูลทั่วไป และข้อมูลเชิงคุณภาพโดยวิธีการสนทนากลุ่ม การประชุมกลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ระยะเวลาที่ทำการศึกษาอยู่ในช่วง เดือน ตุลาคม 2559 ถึงเดือน เมษายน พ.ศ. 2560 รวมระยะเวลา 6 เดือน |
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
ผลการศึกษาพบว่า ก่อนการพัฒนา เยาวชนจิตอาสามีความรู้ ตลอดจนการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันควบคุม โรคพยาธิใบไม้ตับไม่ถูกต้อง โดยกลุ่มเยาวชนจิตอาสากินปลาดิบ กินปลาร้าดิบ เพราะความอร่อย กินตามคุณพ่อ แม่ คิดว่ามียารักษาหากมีการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ หลังการพัฒนาและดำเนินการตามรูปแบบ พบว่า ความรู้ในการป้องกันพยาธิใบไม้ตับดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) เยาวชนจิตอาสา รับรู้ถึงพลังอำนาจที่จะจัดการกับปัญหาของตนเอง และมีการประชาสัมพันธ์สื่อสาร ให้คนในครอบครัวเกิดการรับรู้ข้อมูลของโรคพยาธิใบไม้ตับ ชักชวนและโน้มน้าวให้คนในครอบครัวหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคปลาน้ำจืดมีเกล็ดขาวที่ถูกสุขลักษณะ และเกิดการสร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในทุกด้าน ส่งผลให้เยาวชนจิตอาสาและคนในครอบครัว เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืดมีเกล็ดขาว ดังนั้นรูปแบบในการศึกษานี้สามารถนำมาใช้ ในการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชนเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม |
|
ข้อเสนอแนะ : |
องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้การพัฒนาศักยภาพเยาวชนจิตอาสา ในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ บรรลุ วัตถุประสงค์ได้ตามที่มุ่งหวังนั้นคือ ความร่วมมือในการแก้โขปัญหาจากหลายภาคส่วนได้แก่
1. เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ร่วมกับ อสม. ในหมู่บ้านออกติดตามเยี่ยมบ้านให้กำลังใจ ให้คำแนะนำเยาวชนจิตอาสา อย่างต่อเนื่อง 2. ครูในโรงเรียนจัดการเรียนการสอนเรื่อง การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับอย่างต่อเนื่อง
3. อบต.ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมการแสดงออกซึ่งศักยภาพของเยาวชนจิตอาสา ในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ
การศึกษานี้เกิดความร่วมมือของเหล่าเยาวชนจิตอาสาและ อสม.คู่บัดดี้ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับ ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วม ดำเนินการ และร่วมติดตามประเมินผล ถึงแม้ผลการ พัฒนายังอยู่ในระยะเริ่มต้น เพราะเวลาที่ใช้ในการศึกษาเพียง 6 เดือน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่มีผลต่อการติดเชื้อจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา จึงควรติดตามให้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญที่ได้จากการศึกษานี้คือ ทุกคนที่ได้ร่วม กิจกรรมได้มีโอกาสวิเคราะห์ตนเอง ได้รู้จักตนเอง รู้จัก ข้อดีและข้อด้อยของตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะของการแก้ไขปัญหา ช่วยทำให้บุคคล มีความมั่นใจในตนเอง เป็นการเสริมสร้างพลังอำนาจ แก่เยาวชนจิตอาสาในที่สุด
|
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ได้รับการคัดเลือก ผ่านเข้าไปนำเสนอผลงานวิชาการในระดับเข ระดับ ระดับเขต |
|
|
|
|
|
ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง
|
|
|
|
|