ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของโปรแกรมทันตสุขศึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคปริทันต์ ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตำบลโนนศิลาเลิง
ผู้แต่ง : กฤษฏชาติ ภาชนะวรรณ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุข และมีผู้ป่วยตายเพิ่มมากขึ้น ในทุก ๆปี พบการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน 4 ล้านคนต่อปี เฉลี่ย 8 วินาทีต่อ 1 คน (สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2555) สถานการณ์ผู้ป่วยเบาหวาน ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2554 มีผู้ป่วยประมาณ 346 ล้านคน ซึ่งคาดการณ์ไว้ ว่า ในปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 380 ล้านคน (American DiabetesAssociation, 2012) ทวีปที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานมากที่สุดคือ เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ตามลำดับ จึงเชื่อว่าหากไม่มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องในอีก 20 ข้างหน้าผู้ป่วยทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก ประมาณร้อยละ 54 หรือจำนวน 439 ล้านคน ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลงด้วยตามที่สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ทวีปเอเชียจากสถิติในปี 2550 พบผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น โดยในประเทศอินเดียจะเพิ่มจาก 40 ล้านคน เป็นเกือบ 70 ล้านคน ประเทศจีนจะเพิ่มจาก 39 ล้านคน เป็น 59 ล้านคน ประเทศบังกลาเทศจะเพิ่มจาก 3.8 เป็น 7.4 ล้านคน ประเทศไทยจะเพิ่มจาก 3.46 เป็น 8.2 ล้านคน รวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International diabetes federation: IDF) Diabetes-prevention . [online ]. [cited 2010 Oct 1] ประเทศไทย โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ของคนไทย ซึ่งจากการจัดอันดับสูญเสียในปี 2552 พบว่า โรคเบาหวานทำให้เกิดการสูญเสียปีเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 8.6 และเป็นอันดับ 7 ในเพศชายคิดเป็นร้อยละ 3.8 (นุชรี อาบสุวรรณ และ นิตยา พันธุเวทย์, 2557) ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2556 มีอัตราตายด้วยโรคเบาหวาน 14.93 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน (สำนักโรคไม่ติดต่อ, 2558) จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-52 พบความชุกของโรคเบาหวานในประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3,185,639 รายคิดเป็นร้อยละ 6.9 โดยความชุกในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย ร้อยละ 7.7 และ 6.0 ตามลำดับ ซึ่งความชุกเพิ่มขึ้นตามอายุโดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 60-69 ปี พบสูงถึงร้อยละ 16.7 (สำนักนโยบายและพัฒนายุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2552) จังหวัดกาฬสินธุ์ มีจำนวนผู้ป่วยตายด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เท่ากับ 91, 97, 102, ราย อัตราความชุก 9.25, 9.88, 12.19 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน (สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ,2557) อำเภอฆ้องชัยพบผู้ป่วยตายด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ย้อนหลัง 3 ปี พ.ศ. 2554 - 2556, มีจำนวนผู้ป่วยตาย 42, 56, 98, ราย อัตราความชุกเท่ากับ 8.36, 11.15, 19.52 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน (งานผู้ป่วยเรื้อรังโรงพยาบาลกมลาไสย, 2557) ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในเขตอำเภอฆ้องชัย ที่รักษาอยู่ในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งหมด 983 ราย และมารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตอำเภอฆ้องชัยทั้งหมด 502 ราย พบว่ามีปัญหาสุขภาพช่องปาก ทั้งหมด 352 ราย คิดเป็นร้อยละ 70.12 (ฝ่ายเวชปฏิบัติ โรงพยาบาลกมลาไสย, 2557) จำแนกเป็น มีหินปูน 124 ราย โรคปริทันต์จำนวน 92 ราย ฟันผุ 86 ราย เหงือกอักเสบ 32 ราย และโรคในช่องปากอื่นๆ อีก 18 รายคิดเป็นร้อยละ 35.5, 26.1, 24.4, 9.0, 5.1, ตามลำดับ (ฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลกมลาไสย, 2557) จากข้อมูลดังกล่าวนั้นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเหงือกอักสบ และโรคปริทันต์โดยโรคเหงือกอักเสบเป็นอาการของระยะเริ่มต้นที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรคปริทันต์ได้ ในปัจจุบันมีหลายการศึกษาถึงความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานชนิด ที่ 2 โดยพบว่าจะมีความชุกของการเกิดโรคปริทันต์อักเสบสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (17.3% และ 9%) นั่นคือผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์อักเสบมากกว่า ผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวานถึง 2 เท่า (รถนา ไวยวาจี, 2556) ความสัมพันธ์ของโรคเบาหวานกับโรคปริทันต์เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์และทันตแพทย์มาเป็นเวลานาน สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ภาวะเหงือกอักเสบเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อในช่องปาก เช่น มีภาวะปากแห้ง มีการตอบสนองต่อเชื้อโรคต่ำ ติดเชื้อราได้ง่าย การหายของแผลช้า จึงเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกและมีโอกาสสูญเสียเนื้อเยื่อรอบฟันและกระดูกเบ้าฟันได้ง่าย โดยเกิดจากพฤติกรรมที่ผู้ป่วยเบาหวาน แปรงฟันไม่สะอาด ไม่ถูกวิธี ทำให้มีคราบจุลินทรีย์ ก่อต่อเป็นคราบหินปูน ทำให้เหงือกอักเสบ เรื้อรัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ที่มีพฤติกรรมกินอาหารจุบจิบ ทำความสะอาดช่องปากไม่สะอาด ก่อต่อเป็นครบจุลินทรีย์ส่งผล ต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดกว่าคนปกติถึง 4 เท่า (จันทนา อึ้งชูศักดิ์ และคณะ, 2554) จากปัญหาดังกล่าวจึงเห็นถึงความสามารถของตนเองในการควบคุมกำกับการดูแลตนเองผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในการที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะสามารถควบคุมปริมาณคราบจุลินทรีย์ในช่องปากโย การดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง ผู้วิจัยจึงได้นำทฤษฎีความสามารถของตนเองของแบนดูรา โดยทฤษฎีนี้เชื่อว่าพฤติกรรมของคนเกิดจากความสามารถของบุคคลโดยรับรู้ว่าตนเองสามารถทำในสิ่งนั้นได้และ คาดหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี บุคคล ก็จะแสดงพฤติกรรมนั้นๆ ออกมาโดยการที่จะแสดงความสามารถของตนเองได้นั้นโดยอาศัยประสบการณ์ ทั้งการสังเกตพฤติกรรมจากคนอื่นการมีแรงจูงใจในการปฏิบัติตัวรวมถึงการกระตุ้นทางอารมณ์ การรับรู้ความสามารถจึงจะเป็นสิ่งสำคัญ ที่สามารถจะทำนายหรือตัดสินว่า บุคคลนั้น จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่องตลอดไป ถ้าหากว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเอง และเริ่มมีความคาดหวังกับผลลัพธ์ พร้อมทั้งกำกับตนเองในการปฏิบัติตัวเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคปริทันต์นั้น ว่าสามารถปฏิบัติตัวได้หรือปฏิบัติตัวไม่ได้โดยต้องอาศัย ตัวแบบร่วมกับการใช้กระบวนการกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีให้แก่กลุ่มผู้ป่วย อันจะเป็นประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อป้องกันโรคปริทันต์และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดี โดยใช้ วิธีกระบวนการกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ระหว่างผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยกัน สอดคล้องกับการศึกษาของดวงสมร นิลตานนท์ (2553) ที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีความสามารถของตนเองและกระบวนการกลุ่มร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมในผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้โรคเบาหวาน การรับรู้ความสามารถของตนเองและความคาดหวังในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษา ผลของโปรแกรมทันตสุขศึกษา ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกัน โรคปริทันต์ของของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในเขตพื้นที่อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมทันตสุขศึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคปริทันต์ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ ในพื้นที่ อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ 1.1 เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรม การป้องกันโรคปริทันต์ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ก่อนและหลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ 1.2. เพื่อเปรียบเทียบปริมาณคราบจุลินทรีย์ สภาวะเหงือกอักเสบ ภายในกลุ่มทดลองและกลุ่ม เปรียบเทียบและระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรที่ศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะเหงือกอักเสบ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ที่ได้รับการ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มารับยาโรคเบาหวานที่สุขศาลาพร้อมรับการตรวจสุขภาพช่องปากและพบว่ามีปัญหา โรคเหงือกอักเสบ ในเขตอำเภอฆ้อง จังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะเหงือกอักเสบ ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 60 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน กลุ่มเปรียบเทียบ 30 คน  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล แบบสัมภาษณ์ทังหมด 5 ส่วนส่วนที่ 1 แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในการป้องกันโรคปริทันต์ โดยประยุกต์ใช้ทฤษฏีความสามารถตนเองและกระบวนการกลุ่ม ส่วนที่ 2 แบบสัมภาษณ์ ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานและโรคปริทันต์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในการป้องกันโรคปริทันต์ ส่วนที่ 3 แบบสัมภาษณ์ เกี่ยวกับการรับรู้ความสามารถในการดูแลตนเองและการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อการป้องกันโรคปริทันต์ ส่วนที่ 4 ความคาดหวังในผลลัพธ์ของการปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อการป้องกันโรคปริทันต์ ส่วนที่ 5 การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคปริทันต์ และแบบบันทึกการตรวจสภาวะทันตสุขภาพ แบบบันทึกการตรวจฟัน; แบบบันทึกการตรวจสภาวะเหงือก; แบบบันทึกปริมาณแผ่นคราบจุลินทรีย์  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ในระยะดำเนินการวิจัยครั้งครั้งนี้ มีจำนวนอาสาสมัครแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง และกลุ่มเปรียบเทียบ ประกอบทั้งหมด 6 กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินงาน 12 สัปดาห์ ซึ่งมีรายละเอียดในการดำเนินงาน ดังนี้ โสเหล่เล่าสู่กันฟัง สัปดาห์ที่1 กิจกรรมทันตสุขศึกษาชี้แจงแนวทางการดำเนินงานวิจัย สร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้วิจัยและกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ โดยการอภิปราย ใช้กระบวนการกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้สื่อสไลด์ วีดีทัศน์และกิจกรรมการเรียนรูปแบบมีส่วนร่วมโดยการอภิปรายกลุ่ม รู้เขา รู้เรา สัปดาห์ที่ 2 กิจกรรมทันตสุขศึกษาครั้งที่ 2 สร้างการรับรู้ความสามารถตนเองผ่านกระบวนการจัดฐานการเรียนรู้ โดยแบ่งเป็น 4 ฐานการเรียนรู้แบบเวียนกลุ่ม ประกอบด้วย ฐานที่ 1 ห้องเรียนยิ้มหวาน. ฐานที่ 2 เมนูคนอ่อนหวาน ฐานที่ 3 “รู้ตัวรู้ตนใช้ตัวแบบ โดยใช้บุคคลที่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้ดีคือผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ที่ดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี มาเป็นตัวแบบ ในพื้นที่พร้อมทั้งสาธิตและฝึกปฏิบัติ ฐานที่ 4 เฮฮาฟันดีชีวีมี พาเฮ็ด พาทำ สร้างความคาดหวังในผลลัพธ์ สัปดาห์ที่ 3 กิจกรรมทันตสุขศึกษาครั้งที่ 3 โดยการตั้งเป้าหมายในการแปรงฟันที่ถูกวิธี,การแปรงฟันให้สะอาด, การย้อมคราบจุลินทรย์, การตรวจคราบจุลินทรีย์,ตรวจช่องปากด้วยตนเอง, และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคู่หูสู้ฟันสวยฝึกปฏิบัติเป็นตับแบบที่ดีต่อกัน ยกตัวแบบคู่หูที่ประสบผลสำเร็จ กิจกรรมกลุ่มสนทนา “ดีที่ตน” “ดีที่ปาก “ดีที่เป็นเบาหวาน” พร้อ พร้อมยกตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานที่มีพฤติกรรมการปฏิบัติตนเองในการดูแลรักษาโรคเบาหวานของตนที่เหมาะสม เฮฮา ฟันดี ชีวีมีสุข สัปดาห์ที่ 4 กิจกรรมทันตสุขศึกษาครั้งที่ 4 กระตุ้นทางอารมณ์โดย ผ่านการจัดประกวดผู้ป่วยเบาหวาน 3 ดี แปรงดี สุขภาพดีฟันดี ให้รางวัล บ เบาหวานฟันดี สัปดาห์ที่ 5 กิจกรรมทันตสุขศึกษาครั้งที่ 5 กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้คืนข้อมูลตรวจสุขภาพช่องปากโดยเล่าประสบการณ์ อย่าลืมฉัน สัปดาห์ที่ 6-12 กิจกรรมทันตสุขศึกษาครั้งที่ 6 ติดตามในชุมชนโดยใช้การสนทนากลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีผู้ร่วมสนทนา 7 -12 คนโดยการจัดสนทนากลุ่มใช้คำถามปลายเปิด โดยแบบบันทึกคู่มือฟันดี โดยต้นแบบ คู่หูสู้ฟันสวย ให้รางวัลต่อผู้มีสุขภาพช่องปากที่ดี 4 สัปดาห์ต่อ การติดตาม ในสัปดาห์ที่ 6,8,10,12 สัปดาห์ล่ะ 1 วัน  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง